Value Study - เคล็ดวิชาศึกษาค่าน้ำหนัก

ก่อนผมจะเขียนชิ้นงานจริงทุกครั้ง ผมมักจะเริ่มทำการศึกษาค่าน้ำหนักก่อนเสมอส่วนใหญ่แล้วผมจะทำการจัดองค์ประกอบ (composition) และสเก็ตค่าน้ำหนัก (value study) ไปพร้อมๆกัน
ปกติเวลาเราแบ่งค่าน้ำหนัก เราสามารถแบ่งได้ถึง 10 ค่าน้ำหนัก จากขาวสุด ถึงเข้มสุดได้เลย
แต่ในการศึกษาค่าน้ำหนัก ผมมักจะ แบ่งเป็นแค่ 3 น้ำหนัก คือ
- สว่างสุด - ส่วนนี้ ผมจะเว้นขาวบนกระดาษไว้เลย แทนค่าน้ำหนักที่สว่างสุด (highlight) และสีของวัตถุ (local color)
- น้ำหนักกลาง - ส่วนนี้ผมจะใช้แทนค่าส่วนเงาของวัตถุ (tonal color) ที่ยังไม่เข้มสุด และยังรวมไปถึงสีล้อมรอบวัตถุ (Surrounding color) ที่ปนเข้ามาทั้งในสีของวัตถุ (local color) และสีเงาของวัตถุ (tonal color)
- น้ำหนักเข้มสุด - ในส่วนนี้ จะเป็นเงาเข้มสุดของวัตถุ หรือ จุดเข้มสุดของภาพ (dark point)

ในการมองและตัดทอนค่าน้ำหนัก เราจะใช้การหรี่ตาลงครึ่งนึง เพื่อมองภาพแบบเบลอๆ ไม่ชัดเจน วิธีนี้เราจะเห็นกลุ่มก้อนของค่าน้ำหนักได้ง่ายขึ้น และยังช่วยให้เราตัดทอนรายละเอียดที่ไม่จำเป็นได้อีกด้วย
ในทางศิลปะ เราเรียกวิธีการเหล่านี้ว่า การสรุปรวม และ การสังเคราะห์
การศึกษาค่าน้ำหนักจะช่วยให้เราสามารถเห็นภาพรวมของชิ้นงานเราและทำให้ภาพเกิดระยะได้
อีกทั้งช่วยเราในการวางแผนก่อนการเขียนชิ้นงานสีน้ำอีกด้วย
เรียกได้ว่า ยิงปืนนัดเดียว ได้นก 3-4 ตัวเลยทีเดียว
เทคนิคนี้ศิลปินหลายท่านใช้กันอย่างแพร่หลาย พี่น้องทุกท่านสามารถไปลองกันได้ครับ
และท่านใดคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์ช่วยกันแชร์ออกไปด้วยนะครับ
มาเขียนสีน้ำกันครับ
Buk Chainuwat - บุ๊ค ชัยนุวัตร
